วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติพระครูวินิจวชิรคุณ(หลวงพ่อโน)

อดีตเจ้าคณะตำบลลานกระบือ / เจ้าอาวาสวัดแก้วสุริย์ฉาย
ชาติภูมิ
พระครูวินิจวชิรคุณ (ไสว ติกขปญโญ) เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2475 ตรงกับวันแรม 9 ค่ำเดือน 3 ปีวอก ณ บ้านเลขที่ 25 หมู่ 8 บ้านโนนใน ตำบลลานกระบือ อำเภอพรานกระต่าย (ในขณะนั้น) จังหวัดกำแพงเพชร บิดาชื่อ วัน มารดาชื่อ เขียน นามสกุล จูด้วง
ชีวิตและการศึกษา
ในปฐมวัย ได้ศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านลานกระบือ บิดามารดามีอาชีพทำนา เมื่อชีวิตเจริญวัยก็ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนาเมื่ออายุ 21 ปี ก็ได้อุปสมบท
อุปสมบท วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2496 ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ณ พัทธสีมาวัดแก้วสุริย์ฉาย โดยมีหลวงพ่อกลับ ยสสปญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธฺการบก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระโชด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ติกขปญโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม
ความรู้พิเศษ
ได้ศึกษาทางคาถาอาคมมีความรู้ความสามารถรักษาคนผู้ประสบอุบัติเหตุ แขนหัก ขาหัก เรียกว่า กระดูกหักได้เป็นที่เลื่องลื่อกันเป็นอย่างดี เป็นที่กล่าวขานของประชาชน เป็นที่ยอมรับกันส่วนมาก เมื่อผู้ใดได้มาพบปะกับ่ทานแล้วจะเป็นที่ยอมรับกันส่วนมาก และหลวงพ่อไม่เคยทอดทิ้ง ดูแลตลอดจนกว่าแผลจะหาย การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หลวงพ่อไม่เคยเรียกร้องแต่ประการใด หลวงพ่อเป็นพระนักพัฒนาและช่วยเหลือสังคมมาด้วยดีโดยตลอด เป็นร่มโพธิ์ไทรของชาวลานกระบือและต่างจังหวัด
มรณภาพ
ประมาณปี พ.ศ.2536 หลวงพ่อได้อาพาธหลายโรค โดยเฉพาะโรคอัมพฤกษ์อัมพาต และโรคกระเพาะอักเสบ ต้องผ่าตัดลำไส้ จนกระทั่งวันที่ 20 เม.ย.2544 ถึงมรณภาพอย่างสงบที่กุฏิของท่าน สิริรวมอายุได้ 69 ปี พรรษา 48

ประวัติหลวงพ่อกลับ ยสสปญโญ (อินเลี้ยง)


หลวงพ่อกลับ
เป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่ชาวพุทธทั่วไปให้ความเคารพศรัทธา เลื่อมใส แต่ละวันมีลูกศิษย์ลูกหาแวะเวียนมากราบไห้วบูชา แม้ท่านมรณภาพไปเป็นเวลาช้านานแล้วก็ตาม ซึ่งตามประวัติของท่านเท่าที่พอสืบค้นมาได้ยังไม่ละเอียดมากนัก แต่ก็พอเป็นแนวทางในอนุช
นรุ่นหลังได้ศึกษาถึงกิจวัตรปฏิบัติของท่าน ดังนี้

หลวงพ่อกลับ เกิดเมื่อ ปี ฉลู พ.ศ.2419 วันพุธ เดือน 5 เกิดที่บ้านลานกระบือ บิดาชื่อ นายวิน อินทร์เลี้ยง มารดาชื่อ นางจี่ อินทร์เลี้ยง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือ
1.หลวงพ่อกลับ 2.นางระเวง 3.นายเป้ 4.นางปุ๊
หลวงพ่อกลับ เมื่อเจริญวัยขึ้นพอที่จะได้รับการศึกษา บิดามารดาจึงได้นำไปฝากให้เรียนอยู่กับพระอาจารย์บุญมี ที่วัดแก้วสุริย์ฉายได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งภาษาไทย และขอม หลังจากนั้นจึงได้กลับมาประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้อุปสมบท ณ วัดกำแพงดิน โดยมีหลวงพ่ออู๋ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สว่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ไปศึกษาพระธรรมวินัยกับหลวงพ่อเทศ วัดสนามคลี อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก และไปศึกษาทางไสยศาสตร์กับหลวงพ่อช่วง วัดทุ่งหลวง หลังจากนั้นก็ได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแก้วสุริย์ฉาย ซึ่งเป็นวัดเดิมและไปศึกษาทางไสยศาสตร์กับหลวงพ่อขำ วัดปลักไม้ดำ ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นตลอดมา หลังจากที่หลวงพ่อขำได้มรณภาพแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2482 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์
อนึ่ง เกี่ยวกับกุศลกิจ เมื่อ พ.ศ.2494 หลวงพ่อกลับได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพสิทธิการามหลังจากออกพรรษาแล้ว เดือน 4 พ.ศ.2495 จึงได้กลับไปสร้างพระอุโบสถ เนื่องจากอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมลงโดยธรรมชาติ จึงสั่งให้รื้อของเก่าออกแล้วสร้างเสาคอนกรีตทำฝาผนังใหม่ และได้สร้างเสร็จลงเมื่อ พ.ศ. 2503 จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดเทพสิทธิการามอีก ออกพรรษาแล้ว ตรงกับเดือน 4 จึงกลับไปจัดงานฉลองอุโบสถ เมื่อเสร็จจากการฉลองอุโบสถแล้วจึงอยู่จำพรรษาที่วัดนั้น พ.ศ.2505 เดือน 9 ขึ้น11 คำ เวลาประมาณ 17.00 น. ได้อาพาธลงด้วยโรคชรา อยู่มาได้ตลอดคืนจนกระทั่งถึงวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ เวลา 15.30 น.หลวงพ่อกลับจึงได้มรณภาพ ด้วยอาการสงบ
(เรียบเรียงประวัติโดย นายแล อ้นอิน อดีตไวยาวัจกร วัดแก้วสุริย์ฉาย)

ประวัติหลวงพ่อขำ อินทปณโณ


หลวงพ่อขำ อินทปณโณ ท่านเป็นบุตร นายช้าง นางนิล เกิดประมาณ ปี พ.ศ.2408 มีพี่ 2 คน คือนายมั่นและนายอิน ไม่มีบุตรแม้แต่คนเดียว ชีวิตของท่านตอนเป็นเด็กกำพร้าพ่อ แม่มีพ่อใหม่ พ่อใหม่เป็นคนไม่เอางาน แถมยังติดสุรามักพาลหาเรื่องท่านอยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่งได้มีการนวดข้าวที่ลาน พ่อเลี้ยงได้เมาสุราแล้วตีแม่ท่าน แม่ท่านจึงได้ร้องให้ลูกช่วยท่านจึงใช้ไม้ขอฉาย (ไม้สำหรับคุ้ยเขี่ยฟาง) ฟาดลงบนศรีษะพ่อเลี้ยงแตก นับแต่นั้นมาท่านจึงหันหน้าเข้าวัด เที่ยวเรียนไปหลายวัดแล้วจึงได้เดินทางไปเรียนแถวพิจิตร เมื่อถึงปีบวชก็ได้บวชที่วัดวังตะขบ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โดยมีหลวงพ่อเงินวัดตะขบเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาหาความรู้ใส่ตัวอย่างไม่ลดละหลายจังหวัดทางภาคกลาง วิชาความรู้ที่เรียนในสมัยนั้นก็มีหมอแผนโบราณ ไสยศาสตร์ ฯลฯ แล้วก็ธุดงค์ไปหลายแห่งโดยการนำของหลวงพ่อเงิน เช่น ไปนมัสการพระแท่นดงรัง จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงร่างกุ้งประเทศพม่า ทำให้ท่านได้ความรู้ประสบการณ์ที่จะนำมาพัฒนาวัดโพธิ์เตี้ย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เมื่อบวชได้ 2 พรรษาจึงลาสิกขาบท เพื่อจะมีครอบครัวแต่ฝ่ายหญิงเห็นว่าท่านกำพร้าไม่มีทรัพย์สมบัติ จึงไม่ได้แต่งงานต่อจากนั้นมา ท่านก็กลับเข้ามาอยู่ในร่มกาสาวพัตร์อีกครั้งหนึ่งคราวนี้ท่านตั้งใจ แน่วแน่จะไม่สึก ออกมาหาความสุขทางโลกอีกต่อไปจึงมุมานะเอาดีทางสมณะเพศ จึงได้ศึกษาเล่าเรียนเป็ฯการใหญ่เที่ยวเรียนตามวัดต่างๆ มีเกจิอาจารย์ร่วมรุ่นเดียวกัน เช่น หลวงพ่อมาก วัดบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นท่านก็กลับมาบูรณะวัด มีการสร้างพระอุโบสถ ตั้งแต่พ่อแม่ของผู้ใหญ่ทองดี ยังไม่ได้แต่งงานตอนนี้ผู้ใหญ่ทองดี อายุ 79 ปีแล้ว ต่อมาสร้างพระวิหารเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2470 การสร้างพระอุโบสถในสมัยนั้นประชาชนศรัทธามาก ถึงขนาดถอดต่างหู ขันโตก สายสร้อย ผ้าม่วง ลงไปในหลุมนิมิต ต่อจากนั้นท่านก็ได้สร้างพระเจดีย์ถึง 3 องค์ องค์ทางขวามือของพระอุโบสถเป็นประธาน องค์กลางตอนบนเป็นเครื่องลายครามสังคโลก ตอนล่างข้างในมีพระปางห้ามญาติ และรูปปั้นหลวงพ่อขำ แต่ช่างสมัยนั้นทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร พระเจดีย์องค์ซ้ายมือเป็นที่เก็บพระเครื่องรางของขลัง (วัตถุมงคล) จำนวน 84,000 องค์ พระเครื่องของท่านในพระเจดีย์พระงบน้ำอ้อย พระเจ้า 5 พระองค์ หลวงพ่อสิบชาติ เป็นรูป 3 เหลี่ยม คล้ายพระนางพญา เหรียญหล่อหลวงพ่อขำพิมพ์หยดน้ำ เหรียญหล่อหลวงพ่อขำพิมพ์จอบเล็กทุ่งขาว พิมพ์ใหญ่ ทุ่งดำพิมพ์ใหญ่ ทุ่งดำพิมพ์เล็ก พิมพ์นาคปรก เหรียญหล่อหลวงพ่อขำพิมพ์ข้างอุ เท่าที่จดจำได้ จากนั้นก็ได้สร้างหอระฆังรอยพระพุทธบาทจำลอง ศาลาการเปรียญ

ด้านการปฏิบัติธรรมท่านเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี คือจะมีการปลงอาบัติในเวลาเช้าเบิกอรุณหลังจากเปลื้องคลองผ้าไตรออกก็แสดงอาบัติ 1 ครั้ง หลังจากฉันเช้าเสร็จก็แสดงอาบัติอีก 1 ครั้งแล้วตอนเย็นก่อนสวดมนต์รวมสงฆ์ก็มีการแสดงอาบัติอีก 1 ครั้งรวม 3 ครั้ง

ทุกวันในระหว่างเข้าพรรษา การแสดงอาบัติวันละครั้งคือหลังจากฉันเช้า การสวดมนต์สวดเวลาเช้า 1 ครั้ง นอกจากนี้ภายในวัดจะมีผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ ร่มรื่นน่าอยู่อาศัยและยังมีสัตว์เลี้ยง เช่น ม้า ไก่ กวาง แพะ นกยูง นกเขา นกขุนทอง เมื่อผูคนเข้าวัดจะมีจิตใจแจ่มใส เหมือนหนึ่งเข้าไปในอุทยาน แต่ละปีมักจะมีงานประจำมีลิเก เพลงฉ่อย ฯลฯ ส่วนใหญ่ท่านไม่ได้ไปหานักแสดงจะมากันเองแสดงฟรีโดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด แต่จะขอวัตถุมงคลกลับไป ก่อนจะมีงานประชาชนแถวปากพระ ท่าฉนวน จังหวัดสุโขทัย จะนำยาสูบ ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาเค็ม มาช่วยงาน งานท่านจึงสำเร็จเรียบร้อยด้วยดีทุกครั้ง คุณงามความดีของท่านที่มีความศรัทธาท่านนั้นมีมากหลายอย่าง พอที่จะรวบรวมเป็นหัวข้อได้ดังนี้
1.ด้านการศาสนา ท่านได้สร้างถาวรวัตถุตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และคนที่จะมาบวชอยู่ในอาณาจักรผ้าเหลืองท่านไม่เรียกร้องเจ้าภาพแล้วแต่จะทำบุญ แม้ลูกกำพร้าก็จะบวชให้แถมให้ผ้าไตรอีกด้วย
2.ด้านสาธารณสุข ท่านมียา ทั้งยาเม็ด ยาหม้อ รวมทั้งอาบน้ำมนต์ อันเป็นการรักษาทางด้านจิตใจอีกด้วย
3.ด้านการเกษตร ท่านได้ทำสวนกล้วยน้ำว้า ละมุด น้อยหน่า สับปะรด ส้มโอ มะปราง ขนุน โดยมีพระลูกวัด และลูกศิษย์ช่วยกันปลูกและดูแลรักษา
4.ด้านการช่าง การทำกุฏิ ฯลฯ ท่านจะให้พระภายในวัดช่วยกันกบใส เจาะเดือย พอพระลาสิกขาบทไป ได้นำวิชาความรู้ไปทำบ้านเรือนอาศัยอยู่ได้ และยังมีช่างเหล็กทำให้ผู้บวชอยู่กับท่านได้รับความรูในเรื่องนี้ สามารถทำฆ้อน ทำมีด เสียม จอบ ใช้เองภายในวัดและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ตลอดจนทำที่อยู่อาศัยของตนเอง
5.ด้านไสยศาสตร์ แต่ละปีจะมีนายตำรวจ นายทหารจากจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร ขี่ม้ามาขอบูชาเครื่องรางของขลัง ปรากฎว่าได้ผลดี จึงมีทั้งประชาชนและข้าราชการมาขอบูชาเกือบทุกวันก็ว่าได้
6.ด้านการปกครอง หลังจากทำบุญในฤดูกาลเทศกาลแล้วตอนฉันอาหารเสร็จท่านถือโอกาสอบรมญาตโยมจึงอยู๋ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้คนที่มาบวชอยู่กับท่านจะมาจากหลายที่ เช่น พรานกระต่าย คีรีมาศ สามง่าม ฯลฯ เมื่อลาสิขาบทแล้วก็ยังไปมาหาท่าน ก็ถือโอกาสให้ช่วยกันดูแลญาติโยมของท่าน
7.การพัฒนาวัด นอกจากท่านได้สร้างสิ่งของถาวรวัตถุตามที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังทำเขื่อนวัด โดยใช้ไม้ท่อนกั้นแนวเขตระหว่างวัดกับบ้านอีกด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้ว วัดแห่งนี้เป็นเสมือนวิทยาลัยชนบทซึ่งมีทั้งงานช่าง ศิลปกรรม ด้านการเกษตรกรรม การแพทย์แผนโบราณ การศาสนา การปกครอง ซึ่งเหมือนมีรัฐศาสตร์แทรกอยู๋ด้วย เรียกว่าท่านสร้างทั้งทางโลกและทางธรรมไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ท่านถึงแก่มรณภาพวันที่ 8 สิงหาคม 2482 ตรงกับวันขึ้น 10 คำ เดือน 10 ปีเถาะ ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู๋วัดแห่งนี้จะเจริญมากกว่าที่เห็นอยู๋ในปัจจุบัน

เรียบเรียงประวัติ โดย นายบุญมา ราชบุรี ข้าราชการบำนาญ